วันเสาร์ที่ 17 กันยายน พ.ศ. 2559

ขอทานในประเทศไทย

รายงานสถานการณ์ปัญหาเด็กขอทานรอบปี 2556
     
     สถานการณ์ปัญหาเด็กขอทานในรอบปี 2556 นั้น ยังเป็นปัญหาที่มีความรุนแรงเช่นเดียวกับในหลายปีที่ผ่านมา โดยสถิติการรับแจ้งเบาะแสการนำเด็กมาเป็นเครื่องมือในการขอทานของโครงการรณรงค์ยุติธุรกิจเด็กขอทาน มูลนิธิกระจกเงา มีจำนวนทั้งสิ้น 371 ราย ซึ่งปัญหาเด็กขอทานจะมีการกระจายตัวอยู่แทบทุกพื้นที่ในประเทศไทย เช่น กรุงเทพมหานครและปริมณฑล, จังหวัดชลบุรี, ระยอง, เชียงใหม่, ลำปาง, นครราชสีมา, ขอนแก่น, สุราษฎร์ธานี, ภูเก็ตและสงขลา เป็นต้น ซึ่งตลอดปีที่ผ่านมานี้ โครงการรณรงค์ยุติธุรกิจเด็กขอทาน มูลนิธิกระจกเงา พบว่าปัจจัยที่ทำให้เด็กต้องเข้าสู่วงจรของการขอทานนั้นมีอยู่หลายสาเหตุด้วยกัน อาทิเช่น

1.ปัญหาการค้ามนุษย์ 
     สำหรับปัญหาการค้ามนุษย์ในรูปแบบการนำเด็กมาเป็นเครื่องมือในการขอทานนั้น เด็กที่ตกเป็นเหยื่อร้อยละ 80 ยังคงเป็นเด็กที่มาจากประเทศกัมพูชาเป็นหลัก ซึ่งนายหน้าค้ามนุษย์ยังคงใช้วิธีการซื้อ – ขายหรือเช่าเด็กจากครอบครัวที่มีความยากจนที่อาศัยอยู่ตามแนวชายแดนระหว่างไทย – กัมพูชา โดยจะมีค่าใช้จ่ายในการซื้อ – ขายหรือเช่าเด็กประมาณ 1,500 – 3,000 บาท ต่อคน เพื่อนำมาแสวงหาผลประโยชน์ในรูปแบบเด็กขอทานหรือแสวงหาผลประโยชน์ในรูปแบบอื่นๆ เช่น การนำเด็กมาถือกล่องรับบริจาค เป็นต้น ซึ่งจากการดำเนินงานของโครงการรณรงค์ยุติธุรกิจเด็กขอทาน มูลนิธิกระจกเงา พบกรณีการนำเด็กจากประเทศกัมพูชามาสวมชุดนักเรียนและถือกล่องรับบริจาค ในทำนองขอเป็นค่ารักษาพยาบาล โดยกรณีนี้มีเด็กที่ตกเป็นเหยื่อจำนวน 2 ราย ซึ่งรายหนึ่งมีอาการป่วยเป็นโรคทาลัสซีเมียด้วย ซึ่งแต่ละวันนายหน้าค้ามนุษย์จะให้เด็กตระเวนไปถือกล่องรับบริจาคตามหน้าห้างสรรพสินค้าต่างๆ ในพื้นที่บางกะปิ โดยนายหน้าจะเรียกรับผลประโยชน์จากเด็กวันละ 200 บาท ซึ่งนายหน้าอ้างว่าเพื่อเป็นค่าเช่าห้องและค่าใช้จ่ายในการทำพาสปอร์ตเพื่อให้เด็กใช้ในการเดินทางกลับประเทศกัมพูชา โดยแต่ละวันเด็กจะมีรายได้เฉลี่ยประมาณวันละ 500 - 1,000 บาท ต่อคน ซึ่งกรณีนี้ภายหลังจากที่สามารถช่วยเหลือเด็กได้แล้ว เจ้าหน้าที่ตำรวจได้มีการขยายผลและบุกเข้าตรวจค้นภายในห้องพักของนายหน้าค้ามนุษย์ ซึ่งพบเอกสารการโอนเงิน รวมมูลค่ากว่า 200,000 บาท รวมถึงเศษเหรียญอีกเป็นจำนวนมากภายในห้องพักดังกล่าวอีกด้วย
2.ปัญหาการถูกแสวงหาผลประโยชน์จากคนในครอบครัวของเด็กเอง
      นอกจากปัญหาการค้ามนุษย์แล้ว สิ่งที่น่าเป็นห่วงสำหรับปัญหาการนำเด็กมาเป็นเครื่องมือในการขอทานนั้น โครงการรณรงค์ยุติธุรกิจเด็กขอทาน มูลนิธิกระจกเงา พบว่ามีเด็กขอทานจำนวนไม่น้อยที่ตกเป็นเหยื่อจากการถูกแสวงหาผลประโยชน์จากคนในครอบครัวของเด็กเสียเอง อย่างเช่นกรณีที่ทางโครงการรณรงค์ยุติธุรกิจเด็กขอทาน มูลนิธิกระจกเงา สามารถช่วยเหลือเด็กที่ถูกบังคับมาขอทานในพื้นที่ท่าเรือแห่งหนึ่งย่านถนนพระอาทิตย์ ซึ่งกรณีดังกล่าวนั้นมีเด็กที่ถูกบังคับมาขอทานจำนวน 3 ราย ซึ่งเด็กจะถูกบังคับให้หาเงินให้ได้วันละ 400 บาท ซึ่งหากทำรายได้ไม่ครบตามที่พ่อ – แม่ของเด็กกำหนดไว้ ก็จะถูกทุบตีทำร้ายร่างกาย โดยเหตุผลที่พ่อ – แม่บังคับให้เด็กมาทำเช่นนี้ เพราะพ่อ – แม่ของเด็กมีพฤติกรรมติดยาเสพติด จึงใช้เด็กเป็นเครื่องมือในการแสวงหาผลประโยชน์ให้กับตนเอง
3.ปัญหาเด็กที่อพยพมากับแรงงานข้ามชาติ 
     เด็กที่อพยพมากับแรงงานข้ามชาติถือเป็นเด็กอีกกลุ่มที่มีความเสี่ยงที่จะกลายมาเป็นเด็กขอทาน เนื่องจากประเทศไทยถือเป็นประเทศหนึ่งที่มีการนำเข้าแรงงานจากประเทศเพื่อนบ้านเข้ามาเป็นจำนวนมาก ทั้งกลุ่มแรงงานที่มาจากประเทศพม่า, ลาวและกัมพูชา ซึ่งแรงงานข้ามชาติบางกลุ่มใช้วิธีการลักลอบเข้าสู่ประเทศไทยอย่างผิดกฎหมาย เพื่อมาประกอบอาชีพต่างๆ เช่น แรงงานก่อสร้าง, ทำงานตามโรงงานอุตสาหกรรม เป็นต้น ซึ่งกลุ่มแรงงานที่อพยพเข้าเมืองมาอย่างผิดกฎหมายนั้น ย่อมไม่ได้รับความคุ้มครองในเรื่องสิทธิที่ลูกจ้างพึงจะได้รับตามกฎหมายคุ้มครองแรงงานในประเทศไทย ดังนั้นกลุ่มแรงงานเหล่านี้จึงมักถูกนายจ้างให้ค่าตอบแทนอย่างไม่เป็นธรรม และทำให้เกิดความยากลำบากในการใช้ชีวิตอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ซึ่งย่อมส่งผลกระทบมาจนถึงบุตร – หลานของแรงงานอพยพที่ไม่สามารถเข้าถึงระบบการศึกษาในประเทศไทยได้

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น